ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริ

ประวัติศาสตร์

มละบริ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มองโกลอยด์ดั้งเดิม อดีตเป็นกลุ่มเร่ร่อนตามป่าเขา ผลตรวจดีเอ็นเอมีไมโทคอนเดรียแอโปลไทป์ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากแฮโปลไทป์ที่พบในประชากรอื่น นับได้ว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่และยังคงรักษาโครงสร้างทางพันธุกรรมเฉพาะของกลุ่มตนเองไว้ได้ โดยไม่มีการปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นจากการแต่งงานข้ามเผ่า อาจเป็นลักษณะไมโทคอนเดรียดั้งเดิม และเป็นต้นแบบของไมโทคอนเดรียแอโปลไทป์ที่พบในประชากรอื่น (ดาวรุ่ง, ๒๕๔๘)

ตามประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นคว้าและบันทึกเรื่องราวของชนเผ่าพื้นเมืองมละบริไว้นั้น ไม่มีการยืนยันเป็นที่แน่ชัดได้ว่า มละบริมีการเคลื่อนย้ายมาจากที่ใดก่อนที่จะมาปรากฏตัวและถูกบันทึกไว้ ณ พื้นที่ป่ารอยต่อของจังหวัดแพร่และน่านในปัจจุบัน ชนเผ่าพื้นเมืองมละบริไม่ใช่กลุ่มคนอพยพหรือถูกเกณฑ์จากเชลยศึกสงครามเมื่อครั้งสมัยโบราณ แต่พวกเขาคือกลุ่มคนที่อยู่กับป่า ทำมาหากินด้วยการท่องป่าเพื่อหาอาหารในพื้นที่ป่าเขา

วิถีชีวิตและวัฒนธรรม

มละบริ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายปรับตัวไปกับทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ เคลื่อนย้ายไปตามแหล่งอาหารและฤดูกาลด้วยความชำนาญพิเศษ มีภาษาพูดเป็นของตนเอง การสืบทอดภูมิปัญญาที่เป็นองค์ความรู้การใช้ชีวิตและเอาตัวรอด การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติทั้งในแง่ของอาหาร สมุนไพร และเครื่องใช้ต่างๆ จะได้รับผ่านการเรียนรู้และรักษาไว้โดยการเรียนรู้จากการปฏิบัติสืบต่อกันมา

ปัจจุบัน มละบริมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ตั้งบ้านเรือนเป็นหลักแหล่งตามโครงการพัฒนาวิถีชีวิตมละบริของภาครัฐ โดยการให้มละบริตั้งถิ่นฐานถาวร การทำเกษตรและใช้แรงงานรับจ้าง เป็นการดำรงชีพด้วยการเกษตรที่ผ่านการเรียนรู้จากการใช้แรงงานรับจ้าง แต่่ยังขาดความมั่นคงในที่ดินทำกิน

การกระจายตัวของชุมชนมละบริ

มละบริ มีการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนอยู่ใน 5 ชุมชน ได้แก่

พื้นที่จังหวัดน่าน

  • ชุมชนมละบริภูฟ้า
  • ชุมชนมละบริห้วยหยวก
  • ชุมชนมละบริห้วยลู่

พื้นที่จังหวัดแพร่

  • ชุมชนมละบริท่าวะ
  • ชุมชนมละบริห้วยห้อม